«

»

Mar 10

คู่มือ ประโยค ป.ธ.๓ “อรรถกถาธรรมบท ภาค ๗ แปลโดยพยัญชนะ”

ซื้อหนังสือเล่มนี้ (คลิก)

คู่มือ ประโยค ป.ธ.๓  “อรรถกถาธรรมบท ภาค ๗  แปลโดยพยัญชนะ”  เล่มนี้ แปลมาจากอรรถกถาธรรมบท ภาษาบาลี  ภาค ๗ ซึ่งเป็นผลงานของพระพุทธโฆสาจารย์ นักปราชญ์ชาวอินเดีย ผู้มีชื่อเสียงกึกก้อง เดินทางไปสิงหล (เกาะลังกา)  เพื่อแปลพระไตรปิฎกและอรรถกถาจากภาษาสิงหลเป็นภาษาบาลี  เมื่อ  พ.ศ.๙๕๖  เป็นสำนวนการแปลอรรถกถา ซึ่งเป็นหลักสูตรวิชาแปลมคธเป็นไทย  ชั้นประโยค ป.ธ.๓  มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ศึกษาเนื้อหาหรือเรื่องราว  จำนวน ๖ วรรค คือ

มลวรรค หมวดว่าด้วยมลทิน  ในวรรคนี้เน้นถึงมลทินต่างๆ เช่น  มลทินของชีวิต : ได้แก่ กิเลสและอกุศลธรรม มลทินของมนต์  : การไม่ท่องบ่น มลทินของบ้านเรือน  : ความไม่ขยัน

ธัมมัฏฐวรรค หมวดว่าด้วยผู้ตั้งอยู่ในธรรม  ในวรรคนี้ เน้นถึงคุณธรรมที่ทำให้ชื่อว่าเป็นผู้ตั้งอยู่ในธรรม โดยทรงแสดงไปตามหน้าที่ของแต่ละบุคคลที่ทรงตรัสถึง เช่น คุณธรรมของผู้พิพากษา คือวินิจฉัยคดี และสาเหตุแหงคดี  ทั้งฝ่ายที่เป็นจริง และไม่เป็นจริง

มัคควรรค หมวดว่าด้วยมรรค  ในวรรคนี้ เน้นถึงอริยมรรค มีองค์ ๘ว่าเป็นทางอันประเสริฐที่สุด ทรงย้ำว่า “ทางเพื่อความหมดจดแห่งทรรศนะคือทางนี้เท่านั้น มิใช่ทางอื่น” เหตุที่ทำให้ไม่พบทาง(อริยมรรค)  คือไม่ขยัน เกียจคร้าน  มีความคิดใฝ่ต่ำ  ปราศจากความเพียร  จึงไม่ประสบทางด้วยละวิธีที่จะทำให้พบทาง คือ รักษากาย วาจา และสำรวมใจ

ปกิณณกวรรค หมวดว่าด้วยเบ็ดเตล็ด  ในวรรคนี้ เน้นถึงหลักธรรมทั่วไป เช่น ในเรื่องบุรพกรรมของพระพุทธองค์ ทรงสอนให้สละสุขเล็กน้อยเพื่อความสุขอันยิ่งใหญ่ ในเรื่องภิกษุโอรสของเข้าวัชชี ผู้เห็นชาวเมืองจัดงานสมโภช คิดจะสึกไปครองเรือน ทรงสอนว่า  การบวชเป็นของยาก

นิรยวรรค  หมวดว่าด้วยนรก   ในวรรคนี้ ทรงสอนเรื่องนรก  ซึ่งเป็นสถานที่รองรับคนชั่ว  รวมทั้งผู้ที่ต้องตกนรก  ซึ่งเป็นผู้ที่ทำกรรมชั่วต่างๆ  เช่น ชอบกล่าวคำไม่จริง  ทำความชั่ว  ซ้ำยังโกหกว่าไม่ได้ทำ

นาควรรค  หมวดว่าด้วยช้าง ในวรรคนี้ เน้นการสอนเรื่องการฝึกตน เปรียบเทียบกับการฝึกช้าง  เนื่องจากช้างเป็นสัตว์สำคัญในการสงคราม  การเดินทาง  และเป็นสัตว์ที่ฝึกง่าย  เมื่อได้รับการฝึกดีแล้ว  ย่อมเป็นสัตว์ฉลาด  มีความอดทนสูง  ผู้ที่ฝึกตนได้แล้ว ประเสริฐกว่าช้างที่ฝึกแล้ว  ผู้ที่ไม่ฝึกฝนตน พระองค์ได้ตรัสเปรียบเทียบกับหมู่

คู่มือ ประโยค ป.ธ.๓  “อรรถกถาธรรมบท ภาค ๗  แปลโดยพยัญชนะ”  เล่มนี้ แปลโดยคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยกล่าวถึงเนื้อหาหรือเรื่องราวมลวรรค หมวดว่าด้วยมลทิน มีจำนวน ๑๒ เรื่อง ๒๑ คาถา ในวรรคนี้ คำว่า มลทิน หมายถึงกิเลสต่าง ๆ หรือส่วนเสียต่าง ๆ เช่น ในเรื่องบุตรของคนฆ่าโค และเรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง มลทิน หมายถึงกิเลสมีราคะ เป็นต้น (ขุ.ธ.อ. ๗/๗) ในเรื่องพระติสสเถระ มลทิน หมายถึงอกุศลกรรม ความปราศจากปัญญาพิจารณาปัจจัย ๔ แล้วบริโภค (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๑) ในเรื่องพระโลลุทายี มลทิน หมายถึงการไม่ท่องบ่นมนตร์ เป็นเหตุให้มนตร์เสื่อม หมายถึงความไม่ขยันหมั่นเพียรซ่อมแซมบ้านเรือน เป็นเหตุให้บ้านเรือนทรุดโทรม หมายถึงความเกียจคร้านไม่หมั่นชำระร่างกาย เป็นเหตุให้มีผิวพรรณมัวหมอง และหมายถึงความประมาทไม่รักษาทรัพย์ เป็นเหตุให้ทรัพย์ สูญหาย ไม่คุ้มครองอินทรีย์ ๖ เป็นเหตุให้กิเลสเข้ามาครอบงำได้ (ขุ.ธ.อ. ๗/๑๓) ในเรื่องกุลบุตรคนใดคนหนึ่ง มลทิน หมายถึงความประพฤตินอกใจสามีหรือภรรยา ความตระหนี่ และอกุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็นต้น

ธัมมัฏฐวรรค หมวดว่าด้วยผู้ตั้งอยู่ในธรรม มีจำนวน ๑๐ เรื่อง ๑๗ คาถา ในวรรคนี้  คำว่า ผู้ตั้งอยู่ในธรรม มีความหมายตามนัย เช่น  ในเรื่องมหาอำมาตย์ผู้พิพากษา หมายถึง ผู้ปราศจากอคติ ๔ มีฉันทาคติ เป็นต้น พิพากษาคดีโดยธรรม ในเรื่องพระ ฉัพพัคคีย์ หมายถึงผู้ไม่มีเวรไม่มีภัย ในเรื่องพระเอกุทานขีณาสพ หมายถึงผู้ไม่ ประมาท ในเรื่องพระลกุณฑกภัททิยเถระ หมายถึงพระเถระผู้ตรัสรู้อริยสัจ บรรลุโลกุตตรธรรม ๙ ประการ มีอหิงสา สัญญมะ(ศีล) ทมะ(การสำรวมอินทรีย์) ปราศจากกิเลส ในเรื่องภิกษุหลายรูป หมายถึงผู้ตัดความริษยา มีปัญญา ในเรื่องหัตถกภิกษุ หมายถึงสมณะผู้ระงับกิเลสทั้งหลายได้ ในเรื่องพราหมณ์คนใดคนหนึ่ง หมายถึงภิกษุผู้ลอยบาปทั้งหลายได้ เป็นอยู่ด้วยปัญญา ในเรื่องเดียรถีย์ หมายถึงมุนี ผู้ฉลาดเลือกชั่งแต่สิ่งดีละสิ่งชั่ว ในเรื่องพรานเบ็ดชื่ออริยะ หมายถึงพระอริยะผู้ ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น ในเรื่องภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยศีลเป็นต้นหลายรูป หมายถึงผู้มีปาริสุทธิศีล ๔ มีธุดงคคุณ ๑๓ ประการ เป็นผู้ทรงพระไตรปิฎก บรรลุสมาบัติ ๘ ได้สัมผัสเนกขัมมสุข

มัคควรรค หมวดว่าด้วยมรรค มีจำนวน ๑๒ เรื่อง ๑๗ คาถา ในวรรคนี้ คำว่า มรรค หมายถึงอริยมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ(ความเห็นชอบ) เป็นต้น หมายถึงวิปัสสนาปัญญา หมายถึงการมนสิการโดยแยบคายในอารมณ์ ๓๘ ประการ อันเป็นทางแห่งปัญญา (ขุ.ธ.อ. ๗/๖๖) หมายถึงการตัดป่าคือกิเลสมีราคะ เป็นต้น มีสาระสำคัญ เช่น ในเรื่องภิกษุ ๕๐๐ รูป เรื่องพระปธานกัมมิกติสสเถระ เรื่องสูกรเปรต เรื่อง สัทธิวิหาริกของพระสารีบุตรเถระ และเรื่องนางปฏาจารา ทรงแสดงว่า อริยมรรคมี องค์ ๘ เป็นทางแห่งความสิ้นทุกข์ ตรัสรู้อริยสัจ บรรลุวิราคธรรมคือนิพพาน เป็นทางพ้นจากบ่วงแห่งมารคือวัฏฏะ ในเรื่องอนิจจลักษณะ เป็นต้น มรรค หมายถึงวิปัสสนาที่พิจารณาเห็นสังขารทั้งหลายว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา เป็นเหตุให้เบื่อหน่ายในทุกข์

ปกิณณกวรรค หมวดว่าด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ด มีจำนวน ๙ เรื่อง ๑๖ คาถา เน้นถึงธรรมทั่วไป ไม่ระบุชัดถึงธรรมเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น ในเรื่องบุพกรรมของพระองค์ ทรงแสดงถึงเรื่องการสละความสุขเล็กน้อยเพื่อความสุขที่ยิ่งใหญ่คือนิพพาน (ขุ.ธ.อ. ๗/๘๗) ในเรื่องกุมาริกากินไข่ไก่ ทรงแสดงเรื่องความมุ่งหวังแต่สุขเพื่อตนแล้วก่อทุกข์แก่ผู้อื่นเป็นเหตุให้ไม่อาจพ้นจากเวรได้ เรื่องพระลกุณฏกภัททิยะ ทรงแสดงว่า การฆ่ามารดา บิดา กษัตราธิราชทั้ง ๒ พระองค์ ชาวแว่นแคว้น และเจ้าพนักงานได้ จัดว่าเป็นพราหมณ์ผู้อยู่อย่างไร้ทุกข์ ความหมายของคำเหล่านั้น เช่น มารดา หมายถึงตัณหาอันเป็นเหตุให้เกิดในภพต่าง ๆ บิดา หมายถึงอัสมิมานะ กษัตราธิราชทั้ง ๒ พระองค์ หมายถึงสัสสตทิฏฐิ (ความเห็นว่าเที่ยง) และอุจเฉททิฏฐิ (ความเห็นว่าขาดสูญ)

นิรยวรรค หมวดว่าด้วยคนทำความชั่วตกนรก มีจำนวน  ๙ เรื่อง ๑๔ คาถา ในวรรคนี้ คำว่า ความชั่ว มีความหมายหลายนัย  เช่น เรื่องปริพาชิกาชื่อสุนทรี หมายถึงการกล่าวตู่ผู้อื่นด้วยเรื่องเท็จ และการทำความชั่วแล้วปิดบังว่า มิได้ทำเป็นเหตุให้ได้รับผลคือตกนรก เรื่องภิกษุผู้อยู่ฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา หมายถึงความทุศีลพูดอวดอุตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตนเพื่อแสวงหาลาภเป็นเหตุให้ได้รับผลคือตกนรก ในเรื่องนี้ทรงแสดงเชิงเปรียบเทียบให้เห็นผลต่างระหว่างความทุกข์ที่ได้รับ จากความเป็นผู้ทุศีลที่บริโภคอาหารซึ่งชาวบ้านถวายแล้วต้องตกนรกหลายแสนกัปกับความทุกข์คือความร้อนที่ได้รับจากการกลืนกินก้อนเหล็กร้อนว่า ความทุกข์ที่ได้รับจากการกลืนกินก้อนเหล็กร้อนนั้นมีผลน้อยกว่า เพราะแม้จะได้รับทุกขเวทนาก็ได้รับเพียงในชาตินี้เท่านั้น

นาควรรค หมวดว่าด้วยช้าง มีจำนวน ๘ เรื่อง         ๑๔ คาถา ในวรรคนี้  คำว่า ช้าง แปลจากนาคศัพท์ เพราะนาคศัพท์มาจาก นค แปลว่า ภูเขา สัตว์ที่ใหญ่โตดุจภูเขา ชื่อว่านาคะ (ช้าง) (อภิธา.ฏีกา คาถาที่ ๓๖๐) นี้เป็นความหมายทางคดีโลก แต่ทางคดีธรรมมีความหมาย ๓ นัย คือ (๑) หมายถึงผู้ไม่ทำความชั่วทางกาย วาจา และใจ (๒) หมายถึง ผู้ไม่ถึงอคติ ๔ ไม่ดำเนินชีวิตด้วยอำนาจราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ อุทธัจจะ วิจิกิจฉา และอนุสัย (๓) หมายถึงผู้ไม่หวนกลับมาหากิเลสที่ละได้แล้ว (องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๔๓/๑๒๑) ช้างเป็นสัตว์ที่ใช้เป็นพาหนะในการเดินทาง การค้า และการสงคราม เป็นสัตว์ที่มีความสำคัญมากในครั้งพุทธกาล เพราะช้างเป็นสัตว์ที่ฝึกหัดได้ดี ฉลาดแสนรู้ พระพุทธองค์ทรงแสดงเชิงประยุกต์เปรียบเทียบระหว่างการฝึกตนกับการฝึกช้าง เปรียบเทียบระหว่างคนที่ฝึกตนได้กับช้างที่ได้รับการฝึกหัดมาดีว่า มีผลคล้ายคลึงกัน