ซื้อหนังสือเล่มนี้ (คลิก)
คู่มือ ประโยค ๑-๒ “อรรถกถาธรรมบท ภาค ๔ แปลโดยอรรถ” เล่มนี้ แปลมาจากอรรถกถาธรรมบท ภาษาบาลี ภาค ๔ ซึ่งเป็นผลงานของพระพุทธโฆสาจารย์ นักปราชญ์ชาวอินเดีย ผู้มีชื่อเสียงกึกก้อง เดินทางไปสิงหล (เกาะลังกา) เพื่อแปลพระไตรปิฎกและอรรถกถาจากภาษาสิงหลเป็นภาษาบาลี เมื่อ พ.ศ.๙๕๖ เป็นสำนวนการแปลอรรถกถา ซึ่งเป็นหลักสูตรวิชาแปลมคธเป็นไทย ชั้นประโยค ๑-๒ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ศึกษาเนื้อหาหรือเรื่องราว จำนวน ๓ วรรค คือ (๑) ปัณฑิตวรรค หมวดว่าด้วยบัณฑิต (๒) อรหันตวรรค หมวดว่าด้วยพระอรหันต์ (๓) สหัสสวรรค หมวดว่าด้วยหนึ่งในร้อยในพัน
คู่มือ ประโยค ๑-๒ “อรรถกถาธรรมบท ภาค ๔ แปลโดยอรรถ” เล่มนี้ แปลโดยคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวถึงเนื้อหาหรือเรื่องราว จำนวน ๓ วรรค คือ ปัณฑิตวรรค หมวดว่าด้วยบัณฑิต มีจำนวน ๑๑ เรื่อง ๑๖ คาถา คำว่า บัณฑิต หมายถึงผู้ปฏิบัติตามหลักธรรมคือกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ โดยสรุปก็คือทำดี พูดดี คิดดี อรหันตวรรค หมวดว่าด้วยพระอรหันต์ มีจำนวน ๑๐ เรื่อง ๑๔ คาถา คำว่า อรหันต์ หมายถึงผู้กำจัดข้าศึกคือกิเลสด้วยอริยมรรค หรือผู้อยู่ห่างไกลจากกิเลส ผู้ควรแก่ปัจจัย ๔ ผู้ไม่มีที่ลับในการทำบาป หมายถึงผู้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าจนสามารถกำจัดกิเลสได้หมด สหัสสวรรค หมวดว่าด้วยหนึ่งในร้อยในพัน มีจำนวน ๑๔ เรื่อง ๑๐ คาถา ในวรรคนี้เน้นลักษณะเปรียบเทียบกันระหว่างสิ่งที่เป็นสาระ การกระทำที่เป็นสาระ และชีวิตที่มีสาระ จำนวนหนึ่ง กับสิ่งที่ไร้สาระ การกระทำที่ไร้สาระ และชีวิตที่ไร้สาระ จำนวน ๑๐๐ หรือ ๑,๐๐๐