ซื้อหนังสือเล่มนี้ (คลิก)
มังคลัตถทีปนี เป็นคัมภีร์ที่ทรงคุณค่าทางพระพุทธศาสนาอีกคัมภีร์หนึ่งที่พระสิริมังคลาจารย์ นักปราชญ์ชาวล้านนา ได้รจนาขึ้นเป็นภาษาบาลี เมื่อ พ.ศ.๒๐๖๗ ในขณะอยู่จำพรรษา ณ วัดสวนขวัญ ปัจจุบันคือวัดตำหนัก จังหวัดเชียงใหม่ เพื่ออธิบายความในมงคลสูตร แห่งขุททกปาฐะ และสุตตนิบาต ขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๕ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในรูปของคาถาล้วนๆ โดยอธิบายความแห่งพระพุทธพจน์ในมงคลสูตร มีอรรถกถาอธิบายความชื่อว่าปรมัตถโชติกา ที่พระพุทธโฆสาจารย์ได้รจนาไว้ โดยท่านอธิบายถึงความหมายของพระสูตรนี้โดยละเอียด ด้วยภาษาบาลี อันไพเราะสละสลวย โดยนำเรื่องจากคัมภีร์อื่นๆ มาอธิบายประกอบอย่างกลมกลืนสอดคล้องกับเนื้อหาสาระเป็นอย่างนี้ มีการอ้างอิงที่ก้าวหน้าเกินยุคสมัย ถือได้ว่า เป็นการอธิบายข้อความที่ยากให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายอย่างชัดเจน อีกทั้งเพื่อให้ชาวล้านนาทราบเรื่องราวโดยละเอียดตามแนวของพระพุทธศาสนาได้เข้าใจเรื่องราวชัดเจนยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องค้นคว้าหาข้อมูลจากหลายๆแห่ง อีกทั้งผลงานของท่านยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสนใจในการแสวงหาความรู้ด้านพระพุทธศาสนาของชาวล้านนาได้อย่างเป็นอย่างดี มังคลัตถทีปนี แสดงเนื้อหามงคล ๓๘ ประการ คือ (๑) การไม่คบคนพาล (๒) การคบแต่บัณฑิต (๓) การบูชาคนที่ควรบูชา (๔) การอยู่ในถิ่นที่เหมาะสม (๕) การได้สร้างบุญไว้ในปางก่อน (๖) การตั้งตนไว้ชอบ (๗) ความเป็นพหูสูต (๘) ความเป็นผู้มีศิลปะ (๙) วินัยที่ศึกษามาดี (๑๐) วาจาสุภาษิต (๑๑) การบำรุงมารดาบิดา (๑๒) การสงเคราะห์บุตร (๑๓) การสงเคราะห์ภรรยา (๑๔) การงานที่ไม่อากูล (๑๕) การให้ทาน (๑๖) การประพฤติธรรม (๑๗) การสงเคราะห์ญาติ (๑๘) การงานที่ไม่มีโทษ (๑๙) การงดเว้นจากบาป (๒๐) การเว้นจากการดื่มน้ำเมา (๒๑) ความไม่ประมาทในธรรม(๒๒) ความเคารพ (๒๓) ความถ่อมตน (๒๔) ความสันโดษ (๒๕) ความกตัญญู (๒๖) การฟังธรรมตามกาล (๒๗) ความอดทน (๒๘) ความเป็นคนว่าง่าย (๒๙) การพบเห็นสมณะ (๓๐) การสนทนาธรรมตามกาล (๓๑) การเผาผลาญบาป (๓๒) การประพฤติพรหมจรรย์ (๓๓) การเห็นอริยสัจ (๓๔) การทำนิพพานให้แจ้ง (๓๕) จิตของผู้ที่ถูกโลกธรรมกระทบแล้วไม่หวั่นไหว (๓๖) จิตไม่เศร้าโศก (๓๗) จิตปราศจากธุลี (๓๘) จิตเกษม มังคลัตถทีปนี ทางคณะสงฆ์ไทยได้ใช้เป็นหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี มาแต่โบราณ แม้ในปัจจุบัน ก็ยังคงใช้หลักสูตรชั้นประโยค ป.ธ.๔-๕ วิชาแปลมคธเป็นไทย และชั้นประโยค ป.ธ.๗ วิชาแปลไทยเป็นมคธ มังคลัตถทีปนี ภาค ๒ เล่ม ๒ เล่มนี้ แปลเป็นภาษาไทยโดย คณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประกอบด้วยเนื้อหา ๙ มงคล กล่าวคือ (๒๒) ความเคารพ (๒๓) ความถ่อมตน (๒๔) ความสันโดษ (๒๕) ความกตัญญู (๒๖) การฟังธรรมตามกาล (๒๗) ความอดทน (๒๘) ความเป็นคนว่าง่าย (๒๙) การพบเห็นสมณะ (๓๐) การสนทนาธรรมตามกาล เนื้อหาแต่ละมงคล มีสำนวนการแปลที่สละสลวย มีการตั้งข้อ ย่อหน้า เนื้อหาที่เข้าใจยากก็ทำเชิงอรรถอธิบายให้เข้าใจง่าย อันจะอำนวยประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการด้านพระพุทธศาสนา แก่พระภิกษุ สามเณร นิสิต และประชาชนที่ใฝ่การศึกษาสืบไป