ซื้อหนังสือเล่มนี้ (คลิก)
คัมภีร์มหาวงศ์ ได้รจนาโดย พระมหานามเถระ ชาวลังกาและได้รจนาเพิ่มเติมจนจบโดยคณะบัณฑิต คัมภีร์มหาวงศ์ เป็นตำนานที่ว่าด้วยการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกา แสดงเรื่องพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย และพระราชาทั้งหลาย ตั้งแต่พระเจ้ามหาสมมตแห่งชมพูทวีปเป็นต้น แสดงเรื่องการที่พระพุทธศาสนาเผยแพร่ไปยังนานาประเทศ เป็นพงศาวดารที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณคดีที่ดีเยี่ยม มีชื่อเสียงที่สุดของชนชาติลังกา ซึ่งเป็นชนชาติที่มีประวัติต่อเนื่องยาวนานมากกว่า ๒๕๐๐ ปี ตั้งแต่พระเจ้าวิชัย พ.ศ. ๑ เป็นต้นมา คัมภีร์มหาวงศ์ ถือได้ว่าเป็นงานที่สมบูรณ์ มีลีลาการประพันธ์สละสลวย ขั้นวรรณคดีที่ดีเยี่ยม สมบูรณ์ด้วยคุณลักษณะด้านภาษาและสำนวนโวหาร คือเริ่มและจบอย่างสมบูรณ์ กล่าวถึงราชวงศ์ครบถ้วน คัมภีร์มหาวงศ์ แบ่งเป็น ๒ ภาค มีเนื้อหาประกอบด้วยบท (ปริจเฉท) รวมทั้งสิ้น ๙๙ บท แปลโดย ผศ.สุเทพ พรมเลิศ อาจารย์ประจำคณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สำหรับคัมภีร์วงศ์ ภาค ๑ เล่มนี้ ประกอบด้วย ๖๐ บท จำนวนรวม ๔,๙๕๕ คาถา กล่าวถึงการที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาเกาะลังกา ประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป การสังคายนาพระไตรปิฎก ๓ ครั้ง วงศ์ของพระเจ้ามหาสมมต พระราชากับการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาและการสงเคราะห์ประชาชน ตลอดถึงประวัติของโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญในลังกาทวีป เนื้อหาย่อ คัมภีร์มหาวงศ์ ภาค ๑ ภายในเล่ม มี จำนวน ๖๐ บท ดังจะแสดงพอเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้ บทที่ ๑ ตถาคตาภิคมนะ : การเสด็จมา (เกาะลังกา) ของพระตถาคต พระชินเจ้า(พระโพธิสัตว์) ได้รับการพยากรณ์จากพระพุทธเจ้า ๒๔ พระองค์ว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ได้บำเพ็ญบารมีทั้งปวงแล้วบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงประกาศพระศาสนา แล้วเสด็จมาเกาะลังกา ๓ ครั้ง คือ ครั้งที่ ๑ พระพุทธเจ้าเสด็จมาที่มหิยังคณเจดีย์ หลังจากตรัสรู้แล้ว ๙ เดือน ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๒ (ผุสสมาส) เพื่อทรงชำระเกาะลังกาให้ปราศจากเหล่ายักษ์ผู้ประจำอยู่ในเกาะลังกาสำหรับเป็นที่อยู่ของมนุษย์ต่อไป ครั้งที่ ๒ หลังจากตรัสรู้แล้ว ๕ ปี เสด็จไปยังนาคทวีปในเกาะลังกาเพื่อทรงห้ามสงครามชิงบัลลังก์แก้วมณีระหว่างพระมโหทรนาคราชผู้เป็นลุงกับพระจูโฬทรนาคราชผู้เป็นหลาน ตรงกับวันอุโบสถ กาฬปักษ์ เดือน ๕ (จิตตมาส) ครั้งที่ ๓ หลังจากตรัสรู้แล้ว ๘ ปี เสด็จสู่แม่น้ำกัลยาณีในเกาะลังกาเพื่อโปรดพระยานาคชื่อมณิอักขะ ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๖ ครั้งที่ ๓ นี้ทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ที่ยอดภูเขาสุมนกูฏ (Adam’s Peak) ด้วย บทที่ ๒ มหาสมมตวังสะ : วงศ์ของพระเจ้ามหาสมมต พระพุทธเจ้าทรงสืบเชื้อสายมาจากวงศ์ของพระเจ้ามหาสมมตที่เป็นพระราชาพระองค์แรกในยุคต้นกัป นับแต่ต้นกัปเป็นต้นมาพระมหาสมมตทรงมีพระโอรส พระราชนัดดา พระราชปนัดดาครองราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ตลอดมาจนถึงราชวงศ์ของพระเจ้าโอกกากราช พระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดา พระนางมายาพระพุทธมารดา พระสิทธัตถราชกุมาร(พระพุทธเจ้า) พระนางภัททกัจจานาพระมเหสี และพระราหุลพระโอรส พระเจ้าพิมพิสารกับเจ้าชายสิทธัตถะทรงเป็นพระสหายกัน พระสิทธัตถราชกุมารมีพระชนมายุแก่กว่าพระเจ้าพิมพิสาร ๕ พระชันษา ทรงออกผนวชเมื่อพระชนมายุ ๒๙ พระชันษา ทรงบำเพ็ญเพียร ๖ ปี จึงทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ เมื่อพระชนมายุ ๓๕ พระชันษา ทรงแสดงธรรมโปรดพระเจ้าพิมพิสารขณะที่พระเจ้าพิมพิสารทรงมีพระชนมายุ ๓๐ พระชันษา พระเจ้าพิมพิสารทรงครองราชย์ ๕๒ ปี คือ ก่อนทรงพบพระพุทธเจ้า ๑๕ ปี หลังจากทรงพบพระพุทธเจ้าแล้ว ๓๗ ปี พระเจ้าอชาตศัตรูพระโอรสทรงปลงพระชนม์พระราชบิดาแล้วครองราชย์ได้ ๓๗ ปี ในปีที่ ๘ แห่งรัชกาลของพระเจ้าอชาตศัตรู พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน (การที่ผู้แต่งกล่าวถึงวงศ์ของพระเจ้าสมมตราชเชื่อมโยงกับพุทธประวัติถือเป็นธรรมเนียมในการกำหนดศักราชสำหรับการแต่งพงศาวดารอันเป็นเอกสารเชิงประวัติศาสตร์-ผู้แปล) บทที่ ๓ ปฐมสังคีติ : สังคายนาครั้งที่ ๑ หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานในวันเพ็ญเดือน ๖ (วิสาขมาส) มีการประชุมกันของพระสงฆ์จำนวนมาก เฉพาะภิกษุระดับหัวหน้ามีจำนวนถึง ๗๐๐,๐๐๐ รูป โดยมีพระมหากัสสปเถระเป็นพระสังฆเถระ ท่านได้คำนึงถึงความดำรงมั่นของพระพุทธศาสนาและระลึกถึงถ้อยคำจ้วงจาบพระธรรมวินัยของพระสุภัททะผู้บวชเมื่อแก่ จึงคัดเลือกพระอรหันตขีณาสพจำนวน ๕๐๐ รูป ทำปฐมสังคีติ คือสังคายนาครั้งที่ ๑ ที่บริเวณใกล้ประตูถ้ำสัตตบรรณ ข้างภูเขาเวภาระ กรุงราชคฤห์ ใช้เวลา ๗ เดือนจึงแล้วเสร็จ ทั้งนี้เพื่อให้พระพุทธศาสนามีอายุถึง ๕,๐๐๐ ปี สังคายนาครั้งนี้ท่านเรียกว่า เถริยปรัมปรา (ลำดับสายพระเถระ) เพราะเป็นสังคายนาที่พระเถระทั้งหลายทำไว้เป็นแบบอย่าง บทที่ ๔ ทุติยสังคีติ : สังคายนาครั้งที่ ๒ พระเจ้าอุทยภัททะทรงปลงพระชนม์พระเจ้าอชาตศัตรูพระราชบิดาแล้วเสวยราชสมบัติอยู่ ๑๖ ปี พระเจ้าอนุรุทธะพระโอรสทรงปลงพระชนม์พระเจ้าอุทยภัททะ พระเจ้ามุณฑะพระโอรสทรงปลงพระชนม์พระเจ้าอนุรุทธะ ทั้ง ๒ พระองค์เสวยราชสมบติรวม ๘ ปี พระเจ้านาคทาสกะพระโอรสทรงปลงพระชนม์พระเจ้ามุณฑะเสวยราชสมบัติได้ ๒๔ ปี ชาวเมืองเห็นว่าพระราชวงศ์นี้เป็นวงศ์ปิตุฆาต(ฆ่าพ่อ) จึงทำรัฐประหารยึดราชสมบัติจากพระเจ้านาคทาสกะ(ขับไล่)แล้วอภิเษกสุสุนาคอำมาตย์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าสุสูนาคเสวยราชสมบัติได้ ๑๘ ปี พระเจ้ากาลาโศกพระราชโอรสของพระองค์เสวยราชสมบัติสืบต่อมาอีก ๒๘ ปี รัชกาลของพระเจ้ากาลาโศกล่วงไปได้ ๑๐ ปี ตรงกับ พ.ศ. ๑๐๐ คราวนั้นพวกภิกษุวัชชีบุตร ชาวเมืองเวสาลีได้แสดงวัตถุ ๑๐ ประการ พระยสกากัณฑกบุตรทราบเรื่องจึงรวบรวมภิกษุได้ประมาณ ๙๐,๐๐๐ รูปในระยะแรก และในตอนทำสังคายนามีภิกษุประชุมกันถึง ๑,๒๐๐,๐๐๐ รูป พระเรวตเถระทำหน้าที่ประธานสงฆ์ ท่านคัดเลือกพระอรหันต์ผู้ทรงพระไตรปิฎกจำนวน ๗๐๐ รูป มีพระเจ้ากาลาโศกราชทรงเป็นองค์อุปถัมภก ทำทุติยสังคีติคือสังคายนาครั้งที่ ๒ ที่วาลุการาม สำเร็จโดยเวลา ๘ เดือน บทที่ ๕ ตติยธัมมสังคีติ : สังคายนาครั้งที่ ๓ บทนี้แบ่งออกเป็นหลายตอน ดังนี้ ตอนที่ ๑ กถาว่าด้วยลัทธิฝ่ายอาจริยวาท กล่าวถึงการแตกนิกายของพระพุทธศาสนา ๑๗ นิกาย รวมกับเถรวาทเป็น ๑๘ นิกาย ตลอดระยะเวลานับแต่การปรินิพพานของพระพุทธเจ้ามาจนถึง ๑๐๐ ปีนั้นได้มีเถรวาทนิกายเดียวเท่านั้น ส่วนอาจริยวาทอื่น ๆ ได้เกิดถัดจากนั้น พวกภิกษุ ๑๐,๐๐๐ รูปที่ถูกพระเถระผู้ทำทุติยสังคายนาลงนิคคหะ(การข่มตามหลักพระธรรมวินัย) ได้ตั้งนิกายอาจริยวาทขึ้นแล้วทำสังคายนาใหม่ให้ชื่อว่า มหาสังคีติ จึงเกิดนิกายมหาสังฆิกะขึ้น จากนั้นจึงแตกออกเป็นนิกายต่าง ๆ ทั้งที่แตกจากฝ่ายเถรวาทและอาจริยวาทรวม ๑๗ นิกาย คือ (๑) นิกายมหาสังฆิกะแตกออกจากเถรวาทเป็นนิกายแรก (๒) นิกายโคกุลิกะ (๓) นิกายเอกัพโพหาริกะ (๔) นิกายปัณณัตติวาท (๕) นิกายพาหุลิกะ (๖) นิกายเจติยวาท (๗) นิกายมหิสาสกะ (๘) นิกายวัชชีปุตตกะ (๙) นิกายธัมมุตตริยะ (๑๐) นิกายภัทรยานิกะ (๑๑) นิกายฉันนาคระ (๑๒) นิกายสัมมิตียะ (๑๓) นิกายสัพพัตถิวาท (๑๔) นิกายธัมมคุตติยะ (๑๕) นิกายกัสสปิยะ (๑๖) นิกายสังกันติกะ (๑๗) นิกายสุตตวาท ทั้ง ๑๗ นิกายนี้ถือเป็นนิกายอาจริยวาทที่เกิดในพุทธศตวรรษที่ ๒ ภายหลังจากนั้นยังมีนิกายอาจริยวาทเกิดขึ้นอีก ๘ นิกาย คือ (๑) นิกายเหมวตะ (๒) นิกายราชคิริยะ (๓) นิกายสิทธัตถิกะ (๔) นิกายปุพพเสลิยะ (๕) นิกายอปรเสลิยะ (๖) นิกายวาชิริยะ นิกายทั้ง ๖ นิกายนี้แตกแยกกันในชมพูทวีป (๗) นิกายธัมมรุจิ (๘) นิกายสาคลิยะ นิกายทั้ง ๒ นี้แตกแยกกันในลังกาทวีป และเนื้อหาจากนี้ไป จนถึงบทที่ ๖๐ โปรดหาอ่านในเล่มนี้เถิด หวังเป็นอย่างนี้ว่า คัมภีร์มหาวงศ์ ภาค ๑ เล่มนี้ จะอำนวยให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวรรณคดีพระพุทธศาสนาและประวัติในลังกาทวีปอันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ศึกษาและผู้ที่สนใจทางพระพุทธศาสนาตลอดไป