«

»

Apr 16

คัมภีร์มหาวงศ์ ภาค ๒

ซื้อหนังสือเล่มนี้ (คลิก)

คัมภีร์มหาวงศ์ ได้รจนาโดย พระมหานามเถระ ชาวลังกาและได้รจนาเพิ่มเติมจนจบโดยคณะบัณฑิต คัมภีร์มหาวงศ์ เป็นตำนานที่ว่าด้วยการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกา แสดงเรื่องพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย และพระราชาทั้งหลาย ตั้งแต่พระเจ้ามหาสมมตแห่งชมพูทวีปเป็นต้น แสดงเรื่องการที่พระพุทธศาสนาเผยแพร่ไปยังนานาประเทศ เป็นพงศาวดารที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณคดีที่ดีเยี่ยม มีชื่อเสียงที่สุดของชนชาติลังกา ซึ่งเป็นชนชาติที่มีประวัติต่อเนื่องยาวนานมากกว่า ๒๕๐๐ ปี ตั้งแต่พระเจ้าวิชัย พ.ศ. ๑ เป็นต้นมา คัมภีร์มหาวงศ์ ถือได้ว่าเป็นงานที่สมบูรณ์ มีลีลาการประพันธ์สละสลวย ขั้นวรรณคดีที่ดีเยี่ยม สมบูรณ์ด้วยคุณลักษณะด้านภาษาและสำนวนโวหาร คือเริ่มและจบอย่างสมบูรณ์ กล่าวถึงราชวงศ์ครบถ้วน คัมภีร์มหาวงศ์ แบ่งเป็น ๒ ภาค มีเนื้อหาประกอบด้วยบท (ปริจเฉท) รวมทั้งสิ้น ๙๙ บท แปลโดย ผศ.สุเทพ พรมเลิศ อาจารย์ประจำคณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สำหรับคัมภีร์วงศ์ ภาค ๒ เล่มนี้ ประกอบด้วย ๓๙ บท จำนวนรวม ๕,๐๕๕ คาถา กล่าวถึงการแสดงปาฏิหาริย์ของพระธาตุเขี้ยวแก้ว การพรรณนาการสมโภชพระธาตุเขี้ยวแก้ว พระราชากับการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา การสร้างอุปการคุณต่อพระพุทธศาสนา การสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่ราชอาณาจักร การบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ มีการสร้างพระวิหาร เป็นต้น ตลอดถึงประวัติของโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญในลังกาทวีป เนื้อหาย่อ คัมภีร์มหาวงศ์ ภาค ๒ ภายในเล่ม มี จำนวน ๓๙ บท ตั้งแต่บทที่ ๖๑ เป็นต้นไป ดังจะแสดงพอเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้ บทที่ ๖๑ สังขัตถลิปุราภิคมนะ : มุ่งสู่สังขัตถลิบุรี เมื่อพระเจ้ามาณาภรณ์ครองราชย์อยู่ ณ สังขัตถลินคร สวรรคต พระภาดาสองพระองค์คือพระเจ้ากิตติสิริเมฆกับพระเจ้าสิริวัลลภได้เสด็จมายังสังขัตถลินคร พระเจ้ากิตติสิริเมฆเสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระเจ้ามาณาภรณ์ รับสั่งให้พระเจ้าสิริวัลลภกับเจ้าชายปรักกมะพาหุ พระนางรัตนาวดีเทวี และพระธิดา ๒ พระองค์ คือพระนางมิตตาและพระนางปภาวดี ไปครองมหานาคหุลปุระ พระเจ้าสิริวัลลภทรงเลี้ยงดูเจ้าชายปรักกมะพาหุอย่างดี เมื่อเจริญชันษาทรงจัดพิธีโสกันต์แด่เจ้าชาย และทรงยกพระนางมิตตาให้พระราชโอรสทรงพระนามว่ามาณาภรณ์ ต่อมา พระเจ้าวิกกมะพาหุซึ่งครองราชย์อยู่ ณ ปุฬัตถิมนครสวรรคต ราชสมบัติตกแก่พระเจ้าคชพาหุราชโอรส ฝ่ายพระเจ้ากิตติสิริเมฆและพระเจ้าสิริวัลลภทรงทราบข่าวจึงทรงยกทัพมาหมายยึดครองปุฬัตถิมนครซึ่งถือว่าเป็นมูลมรดกของทั้ง ๒ พระองค์คืน แต่ทรงทำสงครามพ่ายแพ้แก่พระเจ้าคชพาหุจึงถอยทัพกลับ นับตั้งแต่นั้น กษัตริย์ทั้ง ๓ พระองค์ต่างทรงมีสัมพันธไมตรีต่อกันและกัน และทรงครองราชย์อยู่ในแคว้นของแต่ละพระองค์ ฝ่ายเจ้าชายปรักกมะพาหุทรงคิดการณ์ใหญ่ ทรงเห็นว่าผู้มีความสามารถเช่นพระองค์ไม่เหมาะกับเมืองเล็ก ๆ จึงเสด็จออกจากมหานาคหุลปุระมุ่งสู่สังขัตถลินครซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของพระองค์และประทับอยู่กับพระเจ้ากิตติสิริเมฆ บทที่ ๖๒ ปรมัณฑลาภิคมนะ : มุ่งสู่อาณาจักรอื่น เจ้าชายปรักกมะพาหุทรงใฝ่พระทัยในการศึกษาศิลปะทุกอย่างจนเชี่ยวชาญ ทรงแตกฉานทั้งคดีโลกและคดีธรรม เช่น นิติศาสตร์ โกฏิลลศาสตร์ ศัพทศาสตร์ นิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ นัจจคีตศาสตร์ ทรงประพฤติพระองค์ให้เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้ากิตติสิริเมฆ ได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งอุปนัยนะ ขณะฉลองตำแหน่ง พระเจ้าสิริวัลลภสวรรคต เจ้าชายมาณาภรณ์ราชโอรสได้เสด็จขึ้นครองราชย์ และพระนางมิตตาเทวีประสูติพระโอรสทรงพระนามว่าสิริวัลลภ(ขนานนามตามพระนามของพระเปยยกา) ในปีต่อมา พระนางปภาวดีพระมเหสีองค์ที่สองของพระเจ้ามาณาภรณ์ประสูติพระโอรสทรงพระนามว่ากิตติสิริเมฆ ฝ่ายเจ้าชายปรักกมะพาหุทรงคิดการณ์ใหญ่ ทรงประสงค์จะปกครองลังกาทวีปภายใต้เอกเศวตฉัตร ทรงมีพระดำริว่าหากอยู่ ณ สังขัตถลินครต่อไปโดยไม่ได้สืบราชสมบัติต่อจากพระเจ้ากิตติสิริเมฆจะเป็นความเสียหายใหญ่หลวง จึงเสด็จออกจากสังขัตถลินครมุ่งสู่อาณาจักรอื่น บทที่ ๖๓ เสนาปติวธะ : แผนประหารเสนาบดี เจ้าชายเสด็จออกจากสังขัตถลินครโดยมิให้พระเจ้ากิตติสิริเมฆทรงทราบ ทรงเห็นว่าผู้ตามเสด็จพระองค์มีน้อยจึงตรัสถามสาเหตุ เมื่อทรงทราบว่าทุกคนหมิ่นพระองค์ที่ยังพระเยาว์ว่าคงทำการใหญ่ไม่ได้ ทรงประสงค์จะแสดงภูมิปัญญาของพระองค์ให้ปรากฏ จึงเสด็จไปยังพทลัตถิคามซึ่งเสนาบดีของพระเจ้ากิตติสิริเมฆครอบครองอยู่ เสนาบดีคิดจะกราบทูลให้พระเจ้ากิตติสิริเมฆทรงทราบ พระองค์จึงทรงประหารชีวิตเสนาบดียึดทรัพย์ของเสนาบดีนำไปแจกจ่ายแก่พวกทหารของพระองค์ เรื่องนี้เป็นข่าวกระฉ่อนไปทั่ว บทที่ ๖๔ ปรมัณฑลัปปวัตตินิณณยะ : การสำรวจเหตุการณ์ในอาณาจักรอื่น เมื่อเจ้าชายทรงประหารชีวิตเสนาบดีพักดูเหตุการณ์ ๒-๓ วัน ข่าวแพร่ไปอย่างรวดเร็ว ชาวเมืองต่างคิดว่าพระองค์ทรงเป็นกบฏ ต้องการจับกุมนำกลับไปยังสังขัตถลินคร จึงยกทัพมาหมายจับกุมพระองค์หลายครั้ง แต่พระองค์ทรงเชี่ยวชาญการสู้รบทรงรู้จักยุทธศาสตร์จึงได้ชัยชนะทุกครั้ง แต่เพื่อรักษาน้ำพระทัยแห่งพระบิดา(กิตติสิริเมฆ)จึงเสด็จออกจากเขตแคว้นของพระบิดาหลบหนีเข้าไปในอาณาจักรของพระเจ้าคชพาหุ พระเจ้าคชพาหุทรงให้การต้อนรับตามราชประเพณีทรงให้พวกนักสืบคอยติดตามพระองค์ ขณะเดียวกันเจ้าชายทรงส่งนักสืบไปประจำอยู่ในที่ต่าง ๆ ทรงสงเคราะห์ชาวเมืองและเหล่าทหารจนคุ้นเคยกับพระองค์ โดยที่คนเหล่านั้นไม่รู้แผนการของพระองค์ ทรงทำพระองค์ให้เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าคชพาหุโดยนำพระนางภัททวดีกุมารีพระกนิษฐภคินีผู้ทรงสิริโฉมของพระองค์มาเป็นราชบรรณาการแด่พระเจ้าคชพาหุ พระองค์จึงเข้าออกภายในราชสำนักและทรงสืบทราบเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกปุฬัตถินคร และเนื้อหาจากนี้ไป จนถึงบทที่ ๖๕ โปรดหาอ่านในเล่มนี้เถิด หวังเป็นอย่างนี้ว่า คัมภีร์มหาวงศ์ ภาค ๒ เล่มนี้ จะอำนวยให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวรรณคดีพระพุทธศาสนาและประวัติในลังกาทวีปอันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ศึกษาและผู้ที่สนใจทางพระพุทธศาสนาตลอดไป