ซื้อหนังสือเล่มนี้ (คลิก)
- วิสุทธิมรรค ปกรณ์วิเสส ภาค ๒ เล่ม ๒ นี้ แปลมาจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาษาบาลี ที่พระพุทธโฆสาจารย์รจนา ซึ่งมีเนื้อหา ๒๓ ปริจเฉท กล่าวคือ พระวินัยปิฎก มี ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ โดยใจความ ได้แก่ศีล อยู่ใน ๒ ปริจเฉท คือสีลนิเทศ และธุตังคนิเทศ พระสุตตันตปิฎก มี ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ โดยใจความ ได้แก่ สมาธิ อยู่ใน ๑๑ ปริจเฉท ตั้งแต่ปริจเฉทที่ ๓ ถึง ๑๓ ได้แก่ (๓) กัมมัฏฐานคหณนิเทศ (๔) ปฐวีกสิณนิเทศ (๕) เสสกสิณนิเทศ (๖) อสุภกัมมัฏฐานนิเทศ (๗) ฉอนุสสตินิเทศ (๘) อนุสสติกัมมัฏฐานนิเทศ (๙) พรหมวิหารนิเทศ (๑๐) อารุปปนิเทศ (๑๑) สมาธินิเทศ (๑๒) อิทธิวิธนิเทศ (๑๓) อภิญญา-นิเทศ และพระอภิธรรมปิฎก มี ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ โดยใจความก็ได้แก่ ปัญญา อยู่ใน ๙ ปริจเฉท ตั้งแต่ปริจเฉทที่ ๑๔ ถึง ๒๒ ได้แก่ (๑๔) ขันธนิเทศ (๑๕) อายตนธาตุนิเทศ (๑๖) อินทริยสัจจนิเทศ (๑๗) ปัญญาภูมินิเทศ (๑๘) ทิฏฐิวิสุทธินิเทศ (๑๙) กังขาวิตรณวิสุทธิ-นิเทศ (๒๐) มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธินิเทศ (๒๑) ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธินิเทศ (๒๒) ญาณทัสสนวิสุทธินิเทศ (๒๓) ปัญญาภาวนานิสังสนิเทศ ตั้งแต่ปริจเฉทที่ ๑ ถึง ๒๒ คือ ศีล สมาธิ และปัญญา นี่แหละจะเรียกว่า แผนที่หรือทางสู่พระนิพพาน
วิสุทธิมรรค ปกรณ์วิเสส ภาค ๒ เล่ม ๒ นี้ มีเนื้อหาประกอบด้วย ๓ นิเทศ คือ (๑๑) สมาธินิเทศ แสดงวิธีการเจริญอาหาเรปฏิกูลสัญญากัมมัฏฐาน กับจตุธาตุววัตถาน-กัมมัฏฐาน อันเป็นกัมมัฏฐานหมวดสุดท้ายในการเจริญสมถกัมมัฏฐาน ๔๐ ประการ (๑) อาหาเร-ปฏิกูลสัญญา หมายถึง การทำความสำำคัญว่าเป็นของปฏิกูลในอาหาร โดยมุ่งพิจารณาไปที่กวฬิงการาหาร อาหารที่เป็นคำๆ ทั้งโดยการแสวงหา การบริโภค การหมักหมม และการขับถ่ายเป็นต้น (๒) จตุธาตุววัฏฐาน เป็นการกำหนดพิจาณาธาตุ ๔ คือ ปฐวีธาตุ (ธาตุดิน) อาโปธาตุ (ธาตุน้ำ) เตโชธาตุ (ธาตุไฟ) วาโยธาตุ (ธาตุลม) เป็นอารมณ์ โดยการพิจารณาอวัยวะในร่างกายที่เป็นธาตุนั้น ๆ เช่น กำหนดพิจารณาผม และขน เป็นปฐวีธาตุ พิจารณาสิ่งที่มีลักษณะเอิบอาบ เช่น น้ำำดี น้ำเสลด เป็นอาโปธาตุ พิจารณาสิ่งที่มีลักษณะอบอุ่นเป็นเตโชธาตุ พิจารณาสิ่งที่มีลักษณะไหว เป็นวาโยธาตุ การกำหนดพิจารณาในธาตุทั้งหลายเหล่านี้ ย่อมเป็นเหตุให้เพิกถอนอัตตสัญญาความสำคัญหมายในความเป็นสัตว์บุคคลออกได้ จนไม่เกิดความยินดียินร้ายในอารมณ์เหล่านั้น เป็นเหตุให้จิตมีสมาธิมากยิ่งขึ้น (๑๒) อิทธิวิธนิเทศ แสดงเรื่องอภิญญา ท่านพูดถึงอภิญญา ๕ ประการ คือ (๑) อิทธิ-วิธญาณ การแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้ (๒) ทิพพโสตธาตุญาณ การรู้ดุจได้ยินด้วยโสตธาตุอันเป็นทิพย์ (๓) เจโตปริยญาณ การกำหนดรู้ใจผู้อื่นได้ (๔) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ การระลึกชาติหนหลังได้ (๕) จุตูปปาตญาณ การรู้การจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลายได้ ท่านขยายความ (๑) อิทธิวิธญาณ ไว้ว่า การที่บุคคลจะแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้นั้น จะต้องฝึกฝนให้เกิดความชำนาญในการเข้าฌาน ในการออกจากฌานตามลำดับ โดยที่สุดแม้การกำหนดอารมณ์ การกำหนดองค์ฌานก็ต้องทำให้เกิดความชำนาญด้วยอาการ ๑๔ อย่าง มีการเข้าฌานไปตามลำดับกสิณเป็นต้นจึงจะแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้ ซึ่งมีถึง ๑๐ ประการ คือ ฤทธิ์ที่อธิษฐาน ฤทธิ์ที่แสดงได้ต่าง ๆ ฤทธิ์ที่สำเร็จด้วยใจ ฤทธิ์ที่แผ่ไปด้วยญาณ ฤทธิ์ที่แผ่ไปด้วยสมาธิ ฤทธิ์ของพระอริยะ ฤทธิ์ที่เกิดจากผลกรรม ฤทธิ์ของท่านผู้มีบุญ ฤทธิ์ที่สำเร็จมาจากวิชชา ฤทธิ์ที่ประกอบโดยชอบในส่วนนั้นเป็นปัจจัย ต่อจากนั้นท่านได้แสดงมูลเหตุของการเกิดฤทธิ์ว่ามาจากจิตที่ไม่หวั่นไหวด้วยอาการ ๑๐ อย่างที่ชื่อว่า “อาเนญชะ” มีจิตที่ไม่ฟุบลง จิตไม่ฟูขึ้นเป็นต้น ท่านแสดงพร้อมทั้งยกตัวอย่างบุคคลที่แสดงฤทธิ์ได้ (๑๓) อภิญญานิเทศ แสดงเรื่องอภิญญาที่เหลือจากนิเทศที่ผ่านมา คือ (๒) ทิพพโสตธาตุ การได้ยินเสียง ๒ อย่าง ทั้งเสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ (๓) เรื่องเจโตปริยญาณ การกำหนดรู้จิต ๑๖ ประเภท เช่น จิตมีราคะหรือจิตปราศจากราคะเป็นต้น (๔) เรื่องปุพเพนิวาสานุสสติญาณ การระลึกถึงขันธ์ที่เคยอยู่อาศัยในกาลก่อนในชาติปางก่อน ว่าเคยทำกุศลหรืออกุศลอะไรไว้ (๕) เรื่องจุตูปปาตญาณ การกำหนดรู้ความเกิดและความดับของสัตว์ทั้งหลายว่าเป็นไปตามกรรม ที่เป็นเหตุให้ไปเกิดในสุคติและทุคติเป็นต้น และเรื่องเบ็ดเตล็ดในอภิญญา