Mar 09

วารสารมหาจุฬาวิชาการปีที่๑ฉบับที่๒(กรกฎาคม-ธันวาคม๒๕๕๗)

ซื้อหนังสือเล่มนี้ (คลิก)

  • วารสารมหาจุฬาวิชาการ เป็นวารสารวิชาการ ราย ๖ เดือน (ปีละ ๒ ฉบับ) คือ ฉบับที่ ๑ เดือน มกราคม-มิถุนายน, ฉบับที่ ๒ เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการผลิตผลงานทางวิชาการและงานวิจัยด้านพระพุทธศาสนา เพื่อให้บริการทางวิชาการด้านพระพุทธศาสนาแก่่สังคม เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนแนวคิดทาง พระพุทธศาสนา เพื่อสนับสนุนให้เกิดวารสารทางวิชาการกลางของมหาวิทยาลัย ในการเผยแพร่ บทความวิชาการและบทความวิจัยแก่ผู้บริหาร คณาจารย์นักวิชาการ นักวิจัย และนิสิต นักศึกษา ในระดับบัณฑิตศึกษา ในมิติทางด้านศาสนาและปรัชญา พระพุทธศาสนาบูรณาการกับศาสตร์ สมัยใหม่ ในขอบข่ายเนื้อหาสาขาวิชาสังคมวิทยา ศิลปศาสตร์และสหวิทยาการด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์เปิดรับบทความทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
    วารสารมหาจุฬาวิชาการ ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒ กรกฎาคม – ธันวาคม ๒๕๕๗ ได้รวบรวมบทความ วิชาการของผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิคณาจารย์ของมหาวิทยาลัย รวมถึงคณาจารย์ต่างสถาบัน ร่วมส่ง บทความทางวิชาการมาร่วมตีพิมพ์ เพื่อเป็นการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ ทำห้มีโอกาสได้ศึกษา พุทธธรรมและการนำไปประยุกต์กับศาสตร์สมัยใหม่ รวมถึงได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามหลักคำสอนทาง พระศาสนา อันเป็นการบริการวิชาการแก่สังคม ในครั้งนี้กองบรรณาธิการและคณะทำงานฝ่ายจัดทำวารสารมหาจุฬาวิชาการ ได้รับเกียรติจาก ผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิคณาจารย์ของมหาวิทยาลัย และคณาจารย์ต่างสถาบัน ได้ส่งบทความวิชาการ เพื่อลงตีพิมพ์เผยแพร่ ประกอบด้วยบทความทางวิชาการ เนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและปรัชญา พระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์และบทความวิจัย ซึ่งรายละเอียด บทความต่างๆ กองบรรณาธิการ ได้กล่าวถึงเนื้อหาของแต่ละบทความโดยสรุปภายในเล่ม

Mar 09

วรรณกรรมพระพุทธศาสนา

ซื้อหนังสือเล่มนี้ (คลิก)

ตำรา“วรรณกรรมพระพุทธศาสนา” เล่มนี้ เป็นวิชาหนึ่งในหมวดวิชาแกนพระพุทธศาสนา ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จำนวน ๓ หน่วยกิต และเป็นรายวิชาข้อสอบกลาง มุ่งหมายให้ศึกษาความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ “ศึกษาประวัติและพัฒนาการของวรรณกรรมบาลีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาที่ศึกษาอยู่ในประเทศไทย โดยวิเคราะห์วรรณกรรมที่น่าสนใจ เช่น วิมุตติมรรค วิสุทธิมรรค มหาวงศ์ ทีปวงศ์ ศาสนวงศ์ เตภูมิกถา มังคลัตถทีปนี กาพย์มหาชาติ สังคีติยวงศ์ มงคลวิเสสกถา แก่นพุทธศาสน์ กรรมทีปนี พุทธธรรม พุทธวิทยา และพระไตรปิฎกฉบับสากล: วิถีธรรมจากพุทธปัญญา” เป็นผลงานเขียนของคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย แบ่งเนื้อหาเป็น ๙ บท ประกอบด้วย บทที่ ๑ ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา บทที่ ๒ ประวัติและพัฒนาการของวรรณกรรมบาลี บทที่ ๓ วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา : มหาวงศ์ ทีปวงศ์ และ ศาสนวงศ์ บทที่ ๔ วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา : วิมุตติมรรค และ วิสุทธิมรรค บทที่ ๕ วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา : เตภูมิกถา และ มังคลัตถทีปนี บทที่ ๖ วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา : กาพย์มหาชาติ และ สังคีติยวงศ์ บทที่ ๗ วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา : พระมงคลวิเสสกถา และ แก่นพุทธศาสน์ บทที่ ๘ วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา : กรรมทีปนี และ พุทธวิทยา บทที่ ๙ วรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา : พุทธธรรม และพระไตรปิฎกฉบับสากล : วิถีธรรมจากพุทธปัญญา หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือ “วรรณกรรมพระพุทธศาสนา” เล่มนี้ คงอำนวยประโยชน์เชิงวิชาการด้านวรรณกรรมพระพุทธศาสนาแก่คณาจารย์ นิสิต นักศึกษา และประชาชนผู้ที่สนใจสืบไป

Mar 09

วารสารมหาจุฬาวิชาการปีที่๑ฉบับที่๑(มกราคม-มิถุนายน๒๕๕๗)

ซื้อหนังสือเล่มนี้ (คลิก)

วารสารมหาจุฬาวิชาการ ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑ มกราคม – มิถุนายน ๒๕๕๗ ได้รวบรวมบทความ วิชาการของผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิคณาจารย์ของมหาวิทยาลัย รวมถึงคณาจารย์ต่างสถาบัน ร่วมส่ง บทความทางวิชาการมาร่วมตีพิมพ์ เพื่อเป็นการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ ทำให้มีโอกาสได้ศึกษา พุทธธรรมและการนำไปประยุกต์กับศาสตร์สมัยใหม่ รวมถึงได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามหลักคำสอนทาง พระศาสนา อันเป็นการบริการวิชาการแก่สังคม ในครั้งนี้กองบรรณาธิการและคณะทำงานฝ่ายจัดทำวารสารมหาจุฬาวิชาการ ได้รับเกียรติจาก ผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิคณาจารย์ของมหาวิทยาลัย และคณาจารย์ต่างสถาบัน ได้ส่งบทความวิชาการ เพื่อลงตีพิมพ์เผยแพร่ ประกอบด้วยบทความทางวิชาการ เนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและปรัชญา พระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์และบทความวิจัย ซึ่งรายละเอียด บทความต่างๆ กองบรรณาธิการ ได้กล่าวถึงเนื้อหาของแต่ละบทความโดยสรุปภายในเล่ม

 

Mar 09

คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล

 

 

ซื้อหนังสือเล่มนี้ (คลิก)

ตำรา “คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล”เล่มนี้ เป็นรายวิชาในหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นรายวิชาข้อสอบกลาง จำนวน 3 หน่วยกิต ที่กำหนดให้ศึกษาเกี่ยวกับ “คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล องค์ประกอบระบบคอมพิวเตอร์ แพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ ความปลอดภัย กฎหมาย จริยธรรมในสังคมดิจิทัล และความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลในอนาคต ฝึกทักษะการใช้อินเทอร์เน็ต สื่อ การสื่อสารยุคดิจิทัล เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการจัดทำเอกสาร ตารางคำนวณ และการนำเสนอข้อมูลได้” เป็นผลงานเขียนของคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย แบ่งเนื้อหาเป็น 12 บท ประกอบด้วย พื้นฐานคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี แพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ วิทยาการคำนวณเบื้องต้น เทคโนโลยีดิจิทัล ระบบอินเทอร์เน็ต การทำงานและการสื่อสารบนเครือข่ายดิจิทัล การเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ การจัดทำเอกสารดิจิทัล การใช้ตารางคำนวณดิจิทัล การนำเสนอข้อมูลด้วยระบบดิจิทัล ความมั่นคงปลอดภัยและจริยธรรมในสังคมดิจิทัล การเรียนรู้และเผยแผ่หลักธรรมในยุคดิจิทัล หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ตำรารายวิชา “คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล” เล่มนี้ คงอำนวยประโยชน์เชิงวิชาการด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ แก่คณาจารย์ นิสิต นักศึกษา และประชาชนผู้ที่สนใจ ตลอดไป

Jun 05

สถิติเบื้องต้นและการวิจัย ฉบับปรับปรุง

ซื้อหนังสือเล่มนี้ (คลิก)

  • ตำรา “สถิติเบื้องต้นและงานวิจัย” ได้พัฒนาขึ้นตามโครงการผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้พระพุทธศาสนา ปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ของสำนักหอสมุดและเทคโนโลยีสารสนเทศ ร่วมกับกองวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อพัฒนาเนื้อหารายวิชาในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปและหมวดวิชาแกนพระพุทธศาสนา หลักสูตรพุทธศาสตร์บัณฑิต ให้เป็นที่ยอมรับและใช้ร่วมกันได้ทุกคณะ วิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ 2) เพื่อพัฒนารูปแบบ เอกสารประกอบการสอน หนังสือ ตำรา ให้มีเอกลักษณ์ร่วมกัน ทั้งมีความคงทน สวยงาม น่าสนใจต่อการศึกษาค้นคว้า 3) เพื่อนำเนื้อหาสาระไปพัฒนาสื่อการศึกษาและเผยแพร่ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และระบบคลังข้อสอบ 4) เพื่อเสริมทักษะคณาจารย์ในการสร้างผลงานทางวิชาการอย่างมีคุณภาพ รองรับการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย และเป็นที่ยอมรับทั่วไปในประเทศและระดับสากล ตำรา “สถิติเบื้องต้นและการวิจัย” เล่มนี้ เป็นวิชาหนึ่งในหมวดวิชาศึกษาทั่วไป หลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งมุ่งให้ศึกษาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับหลักการพื้นฐานทางสถิติ ข้อมูล การเก็บรวบรวมข้อมูล และการแจกแจงความถี่ การหาแนวโน้มเข้าสู่ส่วนกลาง การวัดและการกระจายของข้อมูล ความน่าจะเป็นความรู้พื้นฐานการวิจัย ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง การทดสอบสมมติฐาน การเขียนโครงร่างและรายงานการวิจัย ตำรา “สถิติเบื้องต้นและการวิจัย” เล่มนี้ แต่งโดย คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีการพัฒนาเนื้อหาในครั้งแรก พ.ศ.2552 ในเนื้อหา แบ่งเป็นบท มี 12 บท คือ ในบทที่ 1-6 ส่วนเนื้อหาเรื่องสถิติ และในบทที่ 7-12 ส่วนเนื้อหาเรื่องการวิจัย และมีปรับปรุงเนื้อหา พ.ศ.2563 ในเนื้อหา แบ่งเป็นบท มี 9 บท คือ ในบทที่ 1-5 ส่วนเนื้อหาเรื่องสถิติ และในบทที่ 6-9 ส่วนเนื้อหาเรื่องการวิจัย เนื้อหาสาระของแต่ละบท คณาจารย์ผู้แต่ง ซึ่งสอนเกี่ยวกับสถิติก็ดี การวิจัย ก็ดี ได้อธิบายรายละเอียดไว้ เป็นอย่างดี หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ตำราเล่มนี้ จะเป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูลให้เกิดประโยชน์ทางการศึกษาเล่าเรียนด้านสถิติและการวิจัย ของนิสิต นักศึกษา ตลอดจนผู้สนใจสืบไป

Apr 16

คัมภีร์มหาวงศ์ ภาค ๒

ซื้อหนังสือเล่มนี้ (คลิก)

คัมภีร์มหาวงศ์ ได้รจนาโดย พระมหานามเถระ ชาวลังกาและได้รจนาเพิ่มเติมจนจบโดยคณะบัณฑิต คัมภีร์มหาวงศ์ เป็นตำนานที่ว่าด้วยการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกา แสดงเรื่องพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย และพระราชาทั้งหลาย ตั้งแต่พระเจ้ามหาสมมตแห่งชมพูทวีปเป็นต้น แสดงเรื่องการที่พระพุทธศาสนาเผยแพร่ไปยังนานาประเทศ เป็นพงศาวดารที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณคดีที่ดีเยี่ยม มีชื่อเสียงที่สุดของชนชาติลังกา ซึ่งเป็นชนชาติที่มีประวัติต่อเนื่องยาวนานมากกว่า ๒๕๐๐ ปี ตั้งแต่พระเจ้าวิชัย พ.ศ. ๑ เป็นต้นมา คัมภีร์มหาวงศ์ ถือได้ว่าเป็นงานที่สมบูรณ์ มีลีลาการประพันธ์สละสลวย ขั้นวรรณคดีที่ดีเยี่ยม สมบูรณ์ด้วยคุณลักษณะด้านภาษาและสำนวนโวหาร คือเริ่มและจบอย่างสมบูรณ์ กล่าวถึงราชวงศ์ครบถ้วน คัมภีร์มหาวงศ์ แบ่งเป็น ๒ ภาค มีเนื้อหาประกอบด้วยบท (ปริจเฉท) รวมทั้งสิ้น ๙๙ บท แปลโดย ผศ.สุเทพ พรมเลิศ อาจารย์ประจำคณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สำหรับคัมภีร์วงศ์ ภาค ๒ เล่มนี้ ประกอบด้วย ๓๙ บท จำนวนรวม ๕,๐๕๕ คาถา กล่าวถึงการแสดงปาฏิหาริย์ของพระธาตุเขี้ยวแก้ว การพรรณนาการสมโภชพระธาตุเขี้ยวแก้ว พระราชากับการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา การสร้างอุปการคุณต่อพระพุทธศาสนา การสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่ราชอาณาจักร การบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ มีการสร้างพระวิหาร เป็นต้น ตลอดถึงประวัติของโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญในลังกาทวีป เนื้อหาย่อ คัมภีร์มหาวงศ์ ภาค ๒ ภายในเล่ม มี จำนวน ๓๙ บท ตั้งแต่บทที่ ๖๑ เป็นต้นไป ดังจะแสดงพอเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้ บทที่ ๖๑ สังขัตถลิปุราภิคมนะ : มุ่งสู่สังขัตถลิบุรี เมื่อพระเจ้ามาณาภรณ์ครองราชย์อยู่ ณ สังขัตถลินคร สวรรคต พระภาดาสองพระองค์คือพระเจ้ากิตติสิริเมฆกับพระเจ้าสิริวัลลภได้เสด็จมายังสังขัตถลินคร พระเจ้ากิตติสิริเมฆเสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพระเจ้ามาณาภรณ์ รับสั่งให้พระเจ้าสิริวัลลภกับเจ้าชายปรักกมะพาหุ พระนางรัตนาวดีเทวี และพระธิดา ๒ พระองค์ คือพระนางมิตตาและพระนางปภาวดี ไปครองมหานาคหุลปุระ พระเจ้าสิริวัลลภทรงเลี้ยงดูเจ้าชายปรักกมะพาหุอย่างดี เมื่อเจริญชันษาทรงจัดพิธีโสกันต์แด่เจ้าชาย และทรงยกพระนางมิตตาให้พระราชโอรสทรงพระนามว่ามาณาภรณ์ ต่อมา พระเจ้าวิกกมะพาหุซึ่งครองราชย์อยู่ ณ ปุฬัตถิมนครสวรรคต ราชสมบัติตกแก่พระเจ้าคชพาหุราชโอรส ฝ่ายพระเจ้ากิตติสิริเมฆและพระเจ้าสิริวัลลภทรงทราบข่าวจึงทรงยกทัพมาหมายยึดครองปุฬัตถิมนครซึ่งถือว่าเป็นมูลมรดกของทั้ง ๒ พระองค์คืน แต่ทรงทำสงครามพ่ายแพ้แก่พระเจ้าคชพาหุจึงถอยทัพกลับ นับตั้งแต่นั้น กษัตริย์ทั้ง ๓ พระองค์ต่างทรงมีสัมพันธไมตรีต่อกันและกัน และทรงครองราชย์อยู่ในแคว้นของแต่ละพระองค์ ฝ่ายเจ้าชายปรักกมะพาหุทรงคิดการณ์ใหญ่ ทรงเห็นว่าผู้มีความสามารถเช่นพระองค์ไม่เหมาะกับเมืองเล็ก ๆ จึงเสด็จออกจากมหานาคหุลปุระมุ่งสู่สังขัตถลินครซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของพระองค์และประทับอยู่กับพระเจ้ากิตติสิริเมฆ บทที่ ๖๒ ปรมัณฑลาภิคมนะ : มุ่งสู่อาณาจักรอื่น เจ้าชายปรักกมะพาหุทรงใฝ่พระทัยในการศึกษาศิลปะทุกอย่างจนเชี่ยวชาญ ทรงแตกฉานทั้งคดีโลกและคดีธรรม เช่น นิติศาสตร์ โกฏิลลศาสตร์ ศัพทศาสตร์ นิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ นัจจคีตศาสตร์ ทรงประพฤติพระองค์ให้เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้ากิตติสิริเมฆ ได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งอุปนัยนะ ขณะฉลองตำแหน่ง พระเจ้าสิริวัลลภสวรรคต เจ้าชายมาณาภรณ์ราชโอรสได้เสด็จขึ้นครองราชย์ และพระนางมิตตาเทวีประสูติพระโอรสทรงพระนามว่าสิริวัลลภ(ขนานนามตามพระนามของพระเปยยกา) ในปีต่อมา พระนางปภาวดีพระมเหสีองค์ที่สองของพระเจ้ามาณาภรณ์ประสูติพระโอรสทรงพระนามว่ากิตติสิริเมฆ ฝ่ายเจ้าชายปรักกมะพาหุทรงคิดการณ์ใหญ่ ทรงประสงค์จะปกครองลังกาทวีปภายใต้เอกเศวตฉัตร ทรงมีพระดำริว่าหากอยู่ ณ สังขัตถลินครต่อไปโดยไม่ได้สืบราชสมบัติต่อจากพระเจ้ากิตติสิริเมฆจะเป็นความเสียหายใหญ่หลวง จึงเสด็จออกจากสังขัตถลินครมุ่งสู่อาณาจักรอื่น บทที่ ๖๓ เสนาปติวธะ : แผนประหารเสนาบดี เจ้าชายเสด็จออกจากสังขัตถลินครโดยมิให้พระเจ้ากิตติสิริเมฆทรงทราบ ทรงเห็นว่าผู้ตามเสด็จพระองค์มีน้อยจึงตรัสถามสาเหตุ เมื่อทรงทราบว่าทุกคนหมิ่นพระองค์ที่ยังพระเยาว์ว่าคงทำการใหญ่ไม่ได้ ทรงประสงค์จะแสดงภูมิปัญญาของพระองค์ให้ปรากฏ จึงเสด็จไปยังพทลัตถิคามซึ่งเสนาบดีของพระเจ้ากิตติสิริเมฆครอบครองอยู่ เสนาบดีคิดจะกราบทูลให้พระเจ้ากิตติสิริเมฆทรงทราบ พระองค์จึงทรงประหารชีวิตเสนาบดียึดทรัพย์ของเสนาบดีนำไปแจกจ่ายแก่พวกทหารของพระองค์ เรื่องนี้เป็นข่าวกระฉ่อนไปทั่ว บทที่ ๖๔ ปรมัณฑลัปปวัตตินิณณยะ : การสำรวจเหตุการณ์ในอาณาจักรอื่น เมื่อเจ้าชายทรงประหารชีวิตเสนาบดีพักดูเหตุการณ์ ๒-๓ วัน ข่าวแพร่ไปอย่างรวดเร็ว ชาวเมืองต่างคิดว่าพระองค์ทรงเป็นกบฏ ต้องการจับกุมนำกลับไปยังสังขัตถลินคร จึงยกทัพมาหมายจับกุมพระองค์หลายครั้ง แต่พระองค์ทรงเชี่ยวชาญการสู้รบทรงรู้จักยุทธศาสตร์จึงได้ชัยชนะทุกครั้ง แต่เพื่อรักษาน้ำพระทัยแห่งพระบิดา(กิตติสิริเมฆ)จึงเสด็จออกจากเขตแคว้นของพระบิดาหลบหนีเข้าไปในอาณาจักรของพระเจ้าคชพาหุ พระเจ้าคชพาหุทรงให้การต้อนรับตามราชประเพณีทรงให้พวกนักสืบคอยติดตามพระองค์ ขณะเดียวกันเจ้าชายทรงส่งนักสืบไปประจำอยู่ในที่ต่าง ๆ ทรงสงเคราะห์ชาวเมืองและเหล่าทหารจนคุ้นเคยกับพระองค์ โดยที่คนเหล่านั้นไม่รู้แผนการของพระองค์ ทรงทำพระองค์ให้เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าคชพาหุโดยนำพระนางภัททวดีกุมารีพระกนิษฐภคินีผู้ทรงสิริโฉมของพระองค์มาเป็นราชบรรณาการแด่พระเจ้าคชพาหุ พระองค์จึงเข้าออกภายในราชสำนักและทรงสืบทราบเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกปุฬัตถินคร และเนื้อหาจากนี้ไป จนถึงบทที่ ๖๕ โปรดหาอ่านในเล่มนี้เถิด หวังเป็นอย่างนี้ว่า คัมภีร์มหาวงศ์ ภาค ๒ เล่มนี้ จะอำนวยให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวรรณคดีพระพุทธศาสนาและประวัติในลังกาทวีปอันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ศึกษาและผู้ที่สนใจทางพระพุทธศาสนาตลอดไป

Apr 16

คัมภีร์มหาวงศ์ ภาค ๑

ซื้อหนังสือเล่มนี้ (คลิก)

คัมภีร์มหาวงศ์ ได้รจนาโดย พระมหานามเถระ ชาวลังกาและได้รจนาเพิ่มเติมจนจบโดยคณะบัณฑิต คัมภีร์มหาวงศ์ เป็นตำนานที่ว่าด้วยการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกา แสดงเรื่องพระพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลาย และพระราชาทั้งหลาย ตั้งแต่พระเจ้ามหาสมมตแห่งชมพูทวีปเป็นต้น แสดงเรื่องการที่พระพุทธศาสนาเผยแพร่ไปยังนานาประเทศ เป็นพงศาวดารที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณคดีที่ดีเยี่ยม มีชื่อเสียงที่สุดของชนชาติลังกา ซึ่งเป็นชนชาติที่มีประวัติต่อเนื่องยาวนานมากกว่า ๒๕๐๐ ปี ตั้งแต่พระเจ้าวิชัย พ.ศ. ๑ เป็นต้นมา คัมภีร์มหาวงศ์ ถือได้ว่าเป็นงานที่สมบูรณ์ มีลีลาการประพันธ์สละสลวย ขั้นวรรณคดีที่ดีเยี่ยม สมบูรณ์ด้วยคุณลักษณะด้านภาษาและสำนวนโวหาร คือเริ่มและจบอย่างสมบูรณ์ กล่าวถึงราชวงศ์ครบถ้วน คัมภีร์มหาวงศ์ แบ่งเป็น ๒ ภาค มีเนื้อหาประกอบด้วยบท (ปริจเฉท) รวมทั้งสิ้น ๙๙ บท แปลโดย ผศ.สุเทพ พรมเลิศ อาจารย์ประจำคณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สำหรับคัมภีร์วงศ์ ภาค ๑ เล่มนี้ ประกอบด้วย ๖๐ บท จำนวนรวม ๔,๙๕๕ คาถา กล่าวถึงการที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาเกาะลังกา ประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป การสังคายนาพระไตรปิฎก ๓ ครั้ง วงศ์ของพระเจ้ามหาสมมต พระราชากับการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาและการสงเคราะห์ประชาชน ตลอดถึงประวัติของโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญในลังกาทวีป เนื้อหาย่อ คัมภีร์มหาวงศ์ ภาค ๑ ภายในเล่ม มี จำนวน ๖๐ บท ดังจะแสดงพอเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้ บทที่ ๑ ตถาคตาภิคมนะ : การเสด็จมา (เกาะลังกา) ของพระตถาคต พระชินเจ้า(พระโพธิสัตว์) ได้รับการพยากรณ์จากพระพุทธเจ้า ๒๔ พระองค์ว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ได้บำเพ็ญบารมีทั้งปวงแล้วบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ทรงประกาศพระศาสนา แล้วเสด็จมาเกาะลังกา ๓ ครั้ง คือ ครั้งที่ ๑ พระพุทธเจ้าเสด็จมาที่มหิยังคณเจดีย์ หลังจากตรัสรู้แล้ว ๙ เดือน ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๒ (ผุสสมาส) เพื่อทรงชำระเกาะลังกาให้ปราศจากเหล่ายักษ์ผู้ประจำอยู่ในเกาะลังกาสำหรับเป็นที่อยู่ของมนุษย์ต่อไป ครั้งที่ ๒ หลังจากตรัสรู้แล้ว ๕ ปี เสด็จไปยังนาคทวีปในเกาะลังกาเพื่อทรงห้ามสงครามชิงบัลลังก์แก้วมณีระหว่างพระมโหทรนาคราชผู้เป็นลุงกับพระจูโฬทรนาคราชผู้เป็นหลาน ตรงกับวันอุโบสถ กาฬปักษ์ เดือน ๕ (จิตตมาส) ครั้งที่ ๓ หลังจากตรัสรู้แล้ว ๘ ปี เสด็จสู่แม่น้ำกัลยาณีในเกาะลังกาเพื่อโปรดพระยานาคชื่อมณิอักขะ ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๖ ครั้งที่ ๓ นี้ทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ที่ยอดภูเขาสุมนกูฏ (Adam’s Peak) ด้วย บทที่ ๒ มหาสมมตวังสะ : วงศ์ของพระเจ้ามหาสมมต พระพุทธเจ้าทรงสืบเชื้อสายมาจากวงศ์ของพระเจ้ามหาสมมตที่เป็นพระราชาพระองค์แรกในยุคต้นกัป นับแต่ต้นกัปเป็นต้นมาพระมหาสมมตทรงมีพระโอรส พระราชนัดดา พระราชปนัดดาครองราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ตลอดมาจนถึงราชวงศ์ของพระเจ้าโอกกากราช พระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดา พระนางมายาพระพุทธมารดา พระสิทธัตถราชกุมาร(พระพุทธเจ้า) พระนางภัททกัจจานาพระมเหสี และพระราหุลพระโอรส พระเจ้าพิมพิสารกับเจ้าชายสิทธัตถะทรงเป็นพระสหายกัน พระสิทธัตถราชกุมารมีพระชนมายุแก่กว่าพระเจ้าพิมพิสาร ๕ พระชันษา ทรงออกผนวชเมื่อพระชนมายุ ๒๙ พระชันษา ทรงบำเพ็ญเพียร ๖ ปี จึงทรงบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ เมื่อพระชนมายุ ๓๕ พระชันษา ทรงแสดงธรรมโปรดพระเจ้าพิมพิสารขณะที่พระเจ้าพิมพิสารทรงมีพระชนมายุ ๓๐ พระชันษา พระเจ้าพิมพิสารทรงครองราชย์ ๕๒ ปี คือ ก่อนทรงพบพระพุทธเจ้า ๑๕ ปี หลังจากทรงพบพระพุทธเจ้าแล้ว ๓๗ ปี พระเจ้าอชาตศัตรูพระโอรสทรงปลงพระชนม์พระราชบิดาแล้วครองราชย์ได้ ๓๗ ปี ในปีที่ ๘ แห่งรัชกาลของพระเจ้าอชาตศัตรู พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน (การที่ผู้แต่งกล่าวถึงวงศ์ของพระเจ้าสมมตราชเชื่อมโยงกับพุทธประวัติถือเป็นธรรมเนียมในการกำหนดศักราชสำหรับการแต่งพงศาวดารอันเป็นเอกสารเชิงประวัติศาสตร์-ผู้แปล) บทที่ ๓ ปฐมสังคีติ : สังคายนาครั้งที่ ๑ หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานในวันเพ็ญเดือน ๖ (วิสาขมาส) มีการประชุมกันของพระสงฆ์จำนวนมาก เฉพาะภิกษุระดับหัวหน้ามีจำนวนถึง ๗๐๐,๐๐๐ รูป โดยมีพระมหากัสสปเถระเป็นพระสังฆเถระ ท่านได้คำนึงถึงความดำรงมั่นของพระพุทธศาสนาและระลึกถึงถ้อยคำจ้วงจาบพระธรรมวินัยของพระสุภัททะผู้บวชเมื่อแก่ จึงคัดเลือกพระอรหันตขีณาสพจำนวน ๕๐๐ รูป ทำปฐมสังคีติ คือสังคายนาครั้งที่ ๑ ที่บริเวณใกล้ประตูถ้ำสัตตบรรณ ข้างภูเขาเวภาระ กรุงราชคฤห์ ใช้เวลา ๗ เดือนจึงแล้วเสร็จ ทั้งนี้เพื่อให้พระพุทธศาสนามีอายุถึง ๕,๐๐๐ ปี สังคายนาครั้งนี้ท่านเรียกว่า เถริยปรัมปรา (ลำดับสายพระเถระ) เพราะเป็นสังคายนาที่พระเถระทั้งหลายทำไว้เป็นแบบอย่าง บทที่ ๔ ทุติยสังคีติ : สังคายนาครั้งที่ ๒ พระเจ้าอุทยภัททะทรงปลงพระชนม์พระเจ้าอชาตศัตรูพระราชบิดาแล้วเสวยราชสมบัติอยู่ ๑๖ ปี พระเจ้าอนุรุทธะพระโอรสทรงปลงพระชนม์พระเจ้าอุทยภัททะ พระเจ้ามุณฑะพระโอรสทรงปลงพระชนม์พระเจ้าอนุรุทธะ ทั้ง ๒ พระองค์เสวยราชสมบติรวม ๘ ปี พระเจ้านาคทาสกะพระโอรสทรงปลงพระชนม์พระเจ้ามุณฑะเสวยราชสมบัติได้ ๒๔ ปี ชาวเมืองเห็นว่าพระราชวงศ์นี้เป็นวงศ์ปิตุฆาต(ฆ่าพ่อ) จึงทำรัฐประหารยึดราชสมบัติจากพระเจ้านาคทาสกะ(ขับไล่)แล้วอภิเษกสุสุนาคอำมาตย์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าสุสูนาคเสวยราชสมบัติได้ ๑๘ ปี พระเจ้ากาลาโศกพระราชโอรสของพระองค์เสวยราชสมบัติสืบต่อมาอีก ๒๘ ปี รัชกาลของพระเจ้ากาลาโศกล่วงไปได้ ๑๐ ปี ตรงกับ พ.ศ. ๑๐๐ คราวนั้นพวกภิกษุวัชชีบุตร ชาวเมืองเวสาลีได้แสดงวัตถุ ๑๐ ประการ พระยสกากัณฑกบุตรทราบเรื่องจึงรวบรวมภิกษุได้ประมาณ ๙๐,๐๐๐ รูปในระยะแรก และในตอนทำสังคายนามีภิกษุประชุมกันถึง ๑,๒๐๐,๐๐๐ รูป พระเรวตเถระทำหน้าที่ประธานสงฆ์ ท่านคัดเลือกพระอรหันต์ผู้ทรงพระไตรปิฎกจำนวน ๗๐๐ รูป มีพระเจ้ากาลาโศกราชทรงเป็นองค์อุปถัมภก ทำทุติยสังคีติคือสังคายนาครั้งที่ ๒ ที่วาลุการาม สำเร็จโดยเวลา ๘ เดือน บทที่ ๕ ตติยธัมมสังคีติ : สังคายนาครั้งที่ ๓ บทนี้แบ่งออกเป็นหลายตอน ดังนี้ ตอนที่ ๑ กถาว่าด้วยลัทธิฝ่ายอาจริยวาท กล่าวถึงการแตกนิกายของพระพุทธศาสนา ๑๗ นิกาย รวมกับเถรวาทเป็น ๑๘ นิกาย ตลอดระยะเวลานับแต่การปรินิพพานของพระพุทธเจ้ามาจนถึง ๑๐๐ ปีนั้นได้มีเถรวาทนิกายเดียวเท่านั้น ส่วนอาจริยวาทอื่น ๆ ได้เกิดถัดจากนั้น พวกภิกษุ ๑๐,๐๐๐ รูปที่ถูกพระเถระผู้ทำทุติยสังคายนาลงนิคคหะ(การข่มตามหลักพระธรรมวินัย) ได้ตั้งนิกายอาจริยวาทขึ้นแล้วทำสังคายนาใหม่ให้ชื่อว่า มหาสังคีติ จึงเกิดนิกายมหาสังฆิกะขึ้น จากนั้นจึงแตกออกเป็นนิกายต่าง ๆ ทั้งที่แตกจากฝ่ายเถรวาทและอาจริยวาทรวม ๑๗ นิกาย คือ (๑) นิกายมหาสังฆิกะแตกออกจากเถรวาทเป็นนิกายแรก (๒) นิกายโคกุลิกะ (๓) นิกายเอกัพโพหาริกะ (๔) นิกายปัณณัตติวาท (๕) นิกายพาหุลิกะ (๖) นิกายเจติยวาท (๗) นิกายมหิสาสกะ (๘) นิกายวัชชีปุตตกะ (๙) นิกายธัมมุตตริยะ (๑๐) นิกายภัทรยานิกะ (๑๑) นิกายฉันนาคระ (๑๒) นิกายสัมมิตียะ (๑๓) นิกายสัพพัตถิวาท (๑๔) นิกายธัมมคุตติยะ (๑๕) นิกายกัสสปิยะ (๑๖) นิกายสังกันติกะ (๑๗) นิกายสุตตวาท ทั้ง ๑๗ นิกายนี้ถือเป็นนิกายอาจริยวาทที่เกิดในพุทธศตวรรษที่ ๒ ภายหลังจากนั้นยังมีนิกายอาจริยวาทเกิดขึ้นอีก ๘ นิกาย คือ (๑) นิกายเหมวตะ (๒) นิกายราชคิริยะ (๓) นิกายสิทธัตถิกะ (๔) นิกายปุพพเสลิยะ (๕) นิกายอปรเสลิยะ (๖) นิกายวาชิริยะ นิกายทั้ง ๖ นิกายนี้แตกแยกกันในชมพูทวีป (๗) นิกายธัมมรุจิ (๘) นิกายสาคลิยะ นิกายทั้ง ๒ นี้แตกแยกกันในลังกาทวีป และเนื้อหาจากนี้ไป จนถึงบทที่ ๖๐ โปรดหาอ่านในเล่มนี้เถิด หวังเป็นอย่างนี้ว่า คัมภีร์มหาวงศ์ ภาค ๑ เล่มนี้ จะอำนวยให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวรรณคดีพระพุทธศาสนาและประวัติในลังกาทวีปอันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ศึกษาและผู้ที่สนใจทางพระพุทธศาสนาตลอดไป

Apr 16

พระพุทธศาสนาเถรวาท

ซื้อหนังสือเล่มนี้ (คลิก)

วิชา “พระพุทธศาสนาเถรวาท” เล่มนี้ เป็นวิชาบังคับหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต ที่กำหนดให้ศึกษาพระพุทธศาสนาเถรวาทในด้านประวัติศาสตร์ พัฒนาการ นิกายสำคัญ หลักคำสอนสำคัญ ภาษาที่ใช้จารึกคัมภีร์ การจัดลำดับชั้นคัมภีร์ รูปแบบการถ่ายทอดและการรักษาคำสอนอิทธิพลของพระพุทธศาสนาเถรวาทที่มีต่อประเทศต่างๆ ในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสังคม และการเมือง เป็นต้น วิชา “พระพุทธศาสนาเถรวาท” เล่มนี้ แต่งโดย คณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีเนื้อหาสาระแบ่งเป็น ๗ บท ซึ่งมุ่งให้ศึกษาเรียนรู้เรื่องประวัติและพัฒนาการพระพุทธศาสนาเถรวาท ภูมิหลังกำเนิดนิกายและกรณีศึกษาผลงานปราชญ์ในพระพุทธศาสนาเถรวาทหลักคำสอนสำคัญในพระพุทธศาสนาเถรวาท ภาษาที่ใช้จารึกคัมภีร์การถ่ายทอดและการรักษาคำสอน การจัดลำดับชั้นคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท อิทธิพลพระพุทธศาสนาเถรวาทที่มีต่อสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ในกลุ่มประเทศเอเชีย อิทธิพลพระพุทธศาสนาเถรวาทที่มีต่อสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในกลุ่มประเทศยุโรปอเมริกา และออสเตรเลีย หวังว่า วิชา “พระพุทธศาสนาเถรวาท” เล่มนี้ คงอำนวยประโยชน์เชิงวิชาการด้านพระพุทธศาสนาเถรวาท แก่พระภิกษุ สามเณร คณาจารย์ นิสิต นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจสืบไป

Apr 16

แต่งแปลบาลี ฉบับปรับปรุง

ซื้อหนังสือเล่มนี้ (คลิก)

ตำรา “แต่งแปลบาลี” เล่มนี้ เป็นวิชาหนึ่งในวิชาแกนพระพุทธศาสนา ที่กำหนดให้ศึกษา หลักบาลีไวยากรณ์ การแต่งบาลี การแปลบาลีทั้งโดยอรรถและโดยพยัญชนะให้ถูกต้องตามหลักภาษา การแต่งและการแปลประโยคพิเศษและสำนวนที่ควรทราบ การแปลบาลีเป็นไทยและแปลไทยเป็นบาลี จากหนังสือที่กำหนด หลักและวิธีการแต่งฉันท์ภาษาบาลี ตำรา “แต่งแปลบาลี”ฉบับปรับปรุง เล่มนี้ แต่งโดย คณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีเนื้อหา ประกอบด้วย ๘ บท คือ “หลักไวยากรณ์เพื่อการแต่งแปล ประโยคในภาษาบาลี ความสัมพันธ์ของบทในประโยค หลักการแปลบาลี หลักการแต่งบาลี แต่งแปลประโยคพิเศษและสำนวนบาลี การแปลบาลีเป็นไทย และการแปลไทยเป็นบาลี หวังว่า ตำรา “แต่งแปลบาลี” ฉบับปรับปรุง เล่มนี้ คงอำนวยประโยชน์เชิงวิชาการการเรียนภาษาบาลีเบื้องต้น ในพระพุทธศาสนาแก่ พระภิกษุ สามเณร คณาจารย์ นิสิต นักศึกษา และประชาชนผู้ที่สนใจสืบไป

Apr 16

ตรรกศาสตร์เบื้องต้น

ซื้อหนังสือเล่มนี้ (คลิก)

ตำรา “ตรรกศาสตร์เบื้องต้น” เล่มนี้ เป็นวิชาหนึ่งในหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ที่กำหนดให้ศึกษานิมิต คำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน วิภาค การนิยามความหมาย ญัตติประพจน์ในแบบต่างๆ การแบ่งญัตติ ความเป็นปฏิปักษ์แห่งญัตติ ญัตติผสม การให้เหตุผล ปรัตถานุมานและปฤฉวาทีแบบต่างๆ ศึกษาหลักการและวิิธีการให้เหตุผลจากบทสนทนาของพระพุทธเจ้าในอนัตตลักขณสูตรหรือในสูตรอื่นๆ บทสนทนาในคัมภีร์กถาวัตถุ ญาณวิทยาในนิกายสรวาสติวาทิน วิภาษวิธีของนาคารชุน เปรียบเทียบความเหมือนและความต่างระหว่างตรรกศาสตร์ตะวันตกกับตรรกศาสตร์ตะวันออก โดยเฉพาะหลักการเชิงตรรกในคัมภีร์พระพุทธศาสนา” ตำรา “ตรรกศาสตร์เบื้องต้น” เล่มนี้ แต่งโดย คณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกณราชวิทยาลัย มีเนื้อหาสาระแบ่งเป็น ๖ บท มุ่งหมายให้ศึกษาความรู้พื้นฐานตรรกศาสตร์ องค์ประกอบพื้นฐานของตรรกศาสตร์ ญัตติ การให้เหตุผล ปฤจฉวาที รวมถึงหลักและวิธีการให้เหตุผลในพระพุทธศาสนา หวังว่า ตำรา “ตรรกศาสตร์เบื้องต้น” เล่มนี้ “ตรรกศาสตร์เบื้องต้น” เล่มนี้ คงอำนวยประโยชน์เชิงวิชาการด้านการให้เหตุผลตามแนวพระพุทธศาสนา เชิงตรรก แก่คณาจารย์ นิสิต นักศึกษา และประชาชนผู้ที่สนใจสืบไป

Older posts «

» Newer posts